วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

อุดมคติ ในการทำงานมันเป็นอย่างกันแน่







พวกเราไม่เคยพูดถึงการทำงานเพื่ออุดมคติ เพราะพวกเราไม่เคยรู้ว่าอุดมคตินั้นมีความหมายอย่างไร

เมื่อพูดถึงการเรียน เราก็พูดต่อเรื่องการงาน ตามมาด้วยการเงิน การเที่ยวเตร่สนุกสนาน การแต่งงานมีครอบครัว ความก้าวหน้าเป็นใหญ่เป็นโต

เราพูดกันถึงเรื่องช่องทางแห่งความก้าวหน้าในอนาคตที่ต้องอาศัยตำแหน่งก้าวขึ้นไป เราจึงมองหาว่า งานอะไรที่ให้เงินเดือนแพงและมีช่องทางก้าวไปได้ไกลในชีวิตส่วนตัว คือ อีกเท่านั้นปีเท่านี้เดือนก็จะได้เงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ เป็นหัวหน้าแผนก หัวหน้ากอง อธิบดีหรือผู้อำนวยการ เป็นรองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ คณะบดีและอธิการบดี ฯลฯ

ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ล้วนมุ่งสู่ความสำเร็จของตนเอง เราไม่เคยพูดถึงการเรียนการงานอันจะนำไปสู่ประโยชน์แก่สังคม เราไม่เคยคิดว่า เราจะทำงานแล้ว ผลงานควรเสริมสร้างสังคม เราคิดกันแต่เรื่องจะเอาประโยชน์จากสังคม

"การทำงานเพื่ออุดมคติ อันหมายถึงการทำงานเพื่อผลของงาน คือ ให้ผลงานออกมาดี ออกมาเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ รวมทั้งประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมก็ยอมทำด้วยความเต็มใจ โดยนัยนี้ ผู้ทำงานต้องไม่เล็งผลเลิศไปที่เงิน แต่เล็งไปที่ประโยชน์เป็นเป้าหมายว่า การทำงานของตน สำเร็จประโยชน์เพียงใด"




พวกข้าราชการส่วนใหญ่ถูกเพ่งเล็งที่สุดว่า คิดแต่จะเอาประโยชน์จากราชการ ส่วนเรื่องที่ตนจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ราชการบ้างนั้น ไม่เคยคิดและคิดไม่เป็น ใครเป็นผู้หว่านพืชแห่งความเห็นแก่ตัวเหล่านี้ไว้ในสังคมไทย และจะแก้ไขอย่างไร ?


การทำงานเพื่ออุดมคติ อันหมายถึงการทำงานเพื่อผลของงาน คือ ให้ผลงานออกมาดี ออกมาเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ รวมทั้งประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมก็ยอมทำด้วยความเต็มใจ โดยนัยนี้ ผู้ทำงานต้องไม่เล็งผลเลิศไปที่เงิน แต่เล็งไปที่ประโยชน์เป็นเป้าหมายว่า การทำงานของตน สำเร็จประโยชน์เพียงใด ผู้ทำงานยังต้องสำรวจความรู้ความสามารถของตนว่าเหมาะสมกับงานหรือไม่ ในการนี้ไม่ต้องคำนึงถึงเกียรติหรือตำแหน่งอันใหญ่โตหรูหรา คำนึงแต่ว่าหน้าที่ของเรานี้จะทำประโยชน์แก่สังคมได้ดีเพียงไร

นักเรียนต้องตั้งเข็มในทางที่ว่า จะเรียนอะไรจึงจะเหมาะสมกับอุปนิสัยของตน เพื่อสำเร็จออกมารับใช้สังคม ไม่คิดกันแต่ว่าจะเรียนอะไรเมื่อสำเร็จแล้วจึงจะรวยเร็ว หรือไปทำงานในตำแหน่งไหน กรมไหน จึงจะมีลู่ทางได้พิเศษมานอกจากเงินเดือน ถ้าคนส่วนใหญ่คิดกันอยู่อย่างนี้ บ้านเมืองไม่มีทางเจริญไปได้.


"คนไทยคิดคำนึง"



วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

นักวิทย์ทดสอบพบ “นั่งหลังเครื่องบิน” มีสิทธิ์รอดตายมากกว่า


ผลการทดลองปล่อยเครื่องบินโบอิ้ง 727 ให้ตกลงสู่ทะเลทรายเม็กซิโก ยืนยันได้ว่า ผู้โดยสารที่นั่งอยู่ด้านหลังเครื่องบินมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก

เอเจนซี - ภาพที่เห็นนี้คือการจำลองเหตุเครื่องบินตก โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบปล่อยเครื่องบินโดยสารให้ร่วงลงสู่พื้น เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับตัวเครื่องและผู้โดยสารที่นั่งอยู่ภายใน
     
การควบคุมเครื่องบินโบอิ้ง 727 ชนิด 170 ที่นั่งให้ตกลงสู่ทะเลทรายโซโนรันของเม็กซิโก ถือเป็นงานทดลองด้านการบินที่น่าตื่นตะลึงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยหลังจากที่นักบิน เจมส์ สโลคัม วัย 55 ปี กระโดดร่มออกจากเครื่องบินที่ความสูง 2,500 ฟุต นักบินอีกคนหนึ่งที่ขับเครื่องบินเล็ก Cessna ตามมาก็ใช้รีโมตคอนโทรลควบคุมเครื่องบินโดยสารให้ร่วงลงสู่พื้นดิน







นักวิจัยติดตั้งหุ่นดัมมี 3 ตัวไว้ภายในเครื่อง ซึ่งหุ่นเหล่านี้ถูกออกแบบให้เคลื่อนไหวร่างกายได้เหมือนมนุษย์
     
หุ่นแต่ละตัวถูกวางไว้ในท่านั่งแตกต่างกัน ตัวที่หนึ่งอยู่ในท่าก้มตัวกอดเข่า (brace position) และคาดเข็มขัดนิรภัย ตัวที่สองคาดเข็มขัดนิรภัยแต่ไม่นั่งในท่าก้มตัวกอดเข่า และตัวสุดท้ายไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่อยู่ในท่าก้มตัวกอดเข่าด้วย
     
เมื่อเครื่องบินตกกระแทกพื้นโดยเอาส่วนหัวลงก่อน ปรากฏว่าหุ่นที่นั่งในท่าก้มตัวกอดเข่าจะปลอดภัยจากแรงกระแทก ตัวที่ไม่ได้อยู่ในท่าดังกล่าวได้รับบาดเจ็บรุนแรงศีรษะ และตัวสุดท้ายที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยอยู่ในสภาพพังยับเยิน
     



โครงการทดลองมูลค่า 1 ล้านปอนด์ซึ่งจะแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของอังกฤษในเดือนตุลาคมนี้ มีเป้าหมายเพื่อจำลองการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงแต่ยังอยู่ในขั้นมีผู้รอดชีวิต และเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาความเสียหายเชิงโครงสร้างเมื่อเกิดการชน (crashworthiness) ของตัวเครื่องและห้องโดยสาร ตลอดจนผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ด้วย
     
 นักวิทยาศาสตร์ติดตั้งกล้องหลายสิบตัวบนเครื่องบินโบอิ้งที่ใช้ทดลอง เพื่อให้เห็นสภาพภายในตัวเครื่อง และยังมีการจับภาพจากพื้นดิน, บนเครื่องบินเล็กที่ติดตามมา และแม้กระทั่งบนหมวกนักบินที่ดีดตัวออกจากเครื่อง
     
ผลการทดลองสรุปได้ว่า ผู้โดยสารร้อยละ 78 จะรอดชีวิตจากการตกในลักษณะนี้ ทว่าผู้โดยสารชั้นเฟิสต์คลาสจะเสียชีวิตทั้งหมด เนื่องจากส่วนหน้าของเครื่องบินฉีกขาดออกจากลำตัว
     

ผู้โดยสารที่นั่งอยู่ด้านหลังเครื่องมีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด
     
การทดลองครั้งนี้ถือเป็นการจำลองสถานการณ์เครื่องบินตกครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ โดยเมื่อนาซาทำการทดลองลักษณะนี้กับเครื่องบินโบอิ้ง 720 ในปี 1984 ปรากฏว่าเครื่องบินเกิดระเบิดไฟลุกท่วมทั้งลำ




วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

ขันติธรรม ว่าด้วยความอดทน


"หนทางไปสู่เกียรติศักดิ์จักประดับดอกไม้
หอมหวนชวนจิตไซร้ ไป่มี"

ข้าพเจ้าเห็นว่า ทางการจีน ต้องการนำเสนอบทเรียนชีวิตที่สำคัญบทหนึ่งแก่ตัวนักเรียน (ซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการนำพาชาติบ้านเมืองให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ ) และตัวผู้ปกครองนักเรียน บทเรียนนี้ ว่ากันว่า ถ้าผ่านไปได้ ถือ หมดห่วงได้เลย ก็คือ บทที่ว่า ขันติธรรม

บุคคลผู้มีความอดทน ย่อมไม่มีอันตรายแก่ใครๆ มีแต่จะนำประโยชน์สุขมาให้แก่บุคคลผู้ที่คบหาเสวนาด้วยอย่างเดียว เพราะบุคคลผู้มีความอดทน ย่อมเป็นผู้มีมงคลคือเหตุแห่งความเจริญในตนอยู่แล้ว จะประกอบกิจการทุกสิ่งล้วนทำด้วยปัญญาอันประกอบด้วยเหตุผลทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นผู้หนักแน่น ไม่หวั่นไหวได้ง่าย

ส่วนบุคคลผู้ที่ไม่มีความอดทน ย่อมตรงกันข้าม คือ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเข้า ก็อาจจะแสดงกิริยาอาการอันไม่งาม ไม่น่าชมออกมาได้ทุกเวลา ทุกโอกาสสถานที่ และเมื่อเป็นเช่นนี้ การประกอบกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง หรือการคบหาสมาคมกัน เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์สุขต่อกันนั้น ก็ย่อมจะถึงกาลเสื่อมเสียไป

ขันติธรรม คือ ความอดทน ท่านจำแนกไว้ 3 ประการ คือ
ประการที่ 1 อดทนต่อความยากลำบาก หมายความว่า อดทนต่อทุกข เวทนาที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะทุกชีวิตที่เกิดมาแล้ว ย่อมไม่พ้นจากความแก่ ความเจ็บ และความตายไปได้ จำต้องประสบพบกับบุคคลทุกประเภท ไม่ว่าจะยากจน หรือ ร่ำรวยก็ตาม ล้วนแล้วแต่ได้พบด้วยกันทั้งนั้น

ประการที่ 2 อดทนต่อความตรากตรำ หมายความว่า อดทนต่อความทุกข์ยากจากการทำงาน เพราะคนทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งบุคคลจะได้สิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ก็จะต้องขยันประกอบอาชีพการงาน แต่ถ้าบุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่ประกอบการงาน ก็จะมีความเป็นอยู่อย่างลำบาก หากมีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านแล้ว ก็จะหาทรัพย์ได้ ดั่งพุทธพจน์ที่ว่า บุคคลผู้มีหน้าที่ หมั่นขยันทำสมควร ย่อมหาทรัพย์ได้"
เมื่อมีหน้าที่การงานแล้ว ควรเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ทำให้เหมาะสมกับหน้าที่ ไม่ทอดทิ้งการงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ควรเพียรพยายามทำให้เต็มกำลังความสามารถและสติปัญญา

การประกอบอาชีพการงานนั้น ย่อมประสบกับอุปสรรค ท่านที่มีปัญญาสามารถ ต้องการที่จะได้รับประโยชน์และความสุข ก็ไม่ควรทอดทิ้งหรือท้อถอย ควรใช้ความอดทนเป็นเบื้องหน้า ก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้
ประการที่ 3 อดทนต่อความเจ็บใจ หมายความว่า อดทนต่อความโกรธที่มากระทบกระทั่ง เพราะบุคคลทุกคน จะอยู่คนเดียวลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่คณะ เป็นครอบครัว ตลอดถึงเป็นประเทศชาติ

บุคคลผู้อยู่ร่วมกันเช่นนี้ บางครั้งอาจมีความกระทบกระทั่งกัน ทะเลาะวิวาทบาดหมางกันบ้าง เพราะต่างก็มีกิเลสอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดความอดทนแล้ว ความทะเลาะวิวาทบาดหมาง ก็จะแตกแยกแผ่ขยายกว้างออกไป จนทำให้เสียหน้าที่การงานได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ประโยชน์สุขก็จะไม่เกิดขึ้น
ดังนั้น ผู้ที่มีขันติธรรม คือ ความอดทน เป็นผู้ปราศจากเวร นอกจากจะเป็นที่รักใคร่นับถือสำหรับมนุษย์ทั้งหลายแล้ว ยังเป็นที่รักใคร่นับถือของทวยเทพเทวดาทั้งหลาย ย่อมสามารถนำประโยชน์สุขมาให้แก่ตนเองและคนเหล่าอื่นได้อีกด้วย



นำมาจากข้อคิดของ :ผู้ละขันธ์๕

หนึ่งความคิดเห็นของ http://www.manager.co.th


วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ถ้าพิกเซลเพิ่ม 2 เท่า จะทำให้ได้ภาพใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่าหรือป่าว?


จำนวนพิกเซลเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
จะทำให้พิมพ์ภาพทีใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่าได้



คำถามที่เชื่อว่า หลายคนคงต้องเคยสงสัย แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสถึงขั้นต้องรู้ให้ได้ อย่างไรก็ตาม หากสิ่งที่คิดมันผิดจากความจริงล่ะ? นั่นก็หมายความว่า เรากำลังเข้าใจ และจดจำอะไรผิดๆ ไปนั่นเอง อย่างเช่น คุณผู้อ่านคิดว่า "กล้องความละเอียด 12 ล้านพิกเซลจะสามารถพิมพ์ภาพได้ใหญ่กว่าเป็น 2 เท่าของกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล" หรือเปล่าครับ?

หากคุณตอบว่า แม่นแท้ คำตอบก็คือ คุณเข้าใจผิดแล้วล่ะครับ เหตุใดเราถึงกล่าวเช่นนั้น เรื่องของเรื่องก็คือ คุณผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะเดาว่า ถ้า 5 x 2 = 10 ดังนั้น 12 ต้องมากกว่า 2 เท่าอย่างเห็นๆ ตณิตศาสตร์ระดับประถมที่เห็นชัดเจนว่า มันถูกต้อง แต่กลับผิดสำหรับผลการคำนวณครั้งนี้ เนื่องจากเวลาที่เราพิมพ์ภาพจำนวนของพิกเซลจะถูกกระจายลงบนพื้นที่การพิมพ์ในสองมิติ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ดังนั้น ความยาว x ความกว้าง ในที่นี้จึงเป็นคนละเรื่องกับการบวกความยาวกับความกว้าง...




สมมติว่า ขนาดภาพคือ 4x6 หรือคิดเป็นพื้นที่ 24 ตารางนิ้ว นั่นหมายความว่า ภาพขนาด 2 เท่าจะหมายถึง 8 x 12 หรือ 96 ตารางนิ้ว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คุณต้องการความละเอียดของพิกเซลมากขึ้น 4 เท่า เพื่อพิมพ์ภาพขนาด 8 x 12 นิ้วที่ใหญ่เป็น 2 เท่าของภาพขนาด 4 x 6 นิ้ว ดังนั้น หากคุณต้องการรู้ว่า ถ้าต้องการภาพพิมพ์ที่ใหญ่เป็น 2 เท่าของกล้องที่ใช้อยู่ คุณต้องเลือกกล้องที่ละเอียดเพิ่มข้นเป็นเท่าไร? สามารถแจกแจงได้ดังนี้

ภาพพิมพ์ที่ใหญ่เป็นสองเท่าของกล้อง 2 ล้านพิกเซลคือ 4 ล้านพิกเซล
ภาพพิมพ์ที่ใหญ่เป็นสองเท่าของกล้อง 4 ล้านพิกเซลคือ 16 ล้านพิกเซล
ภาพพิมพ์ที่ใหญ่เป็นสองเท่าของกล้อง 8 ล้านพิกเซลคือ 64 ล้านพิกเซล
ภาพพิมพ์ที่ใหญ่เป็นสองเท่าของกล้อง 12 ล้านพิกเซลคือ 144 ล้านพิกเซล

ว่าแต่เราต้องการกล้อง 144 ล้านพิกเซล เพื่อพิมพ์ภาพขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของกล้อง 12 ล้านที่เรามีอยู่นะหรือ? ประเด็นคือ มันยังไม่จบเท่านี้ครับ เนื่องจากในส่วนของการพิมพ์มันมีหน่วยความละเอียดเป็น DPI ซึ่งหมายถึง จำนวนจุดของการพิมพ์ต่อตารางนิ้ว และสำหรับภาพถ่ายที่มีคุณภาพการพิมพ์ที่ยอมรับได้อยู่ที่ 300 dpi ดังนั้นการพิมพ์ ภาพ 4 x 6 นิ้วที่ 300 dpi คุณสามารถใช้กล้อง 2.16 ล้านพิกเซลก็พอแล้ว (4 x 300 dpi x 6 x 300 dpi = 2,160,000) และหากคุณต้องการพิมพ์ภาพใหญ่ 8 x 10 นิ้ว ความละเอียดของกล้องที่คุณต้องการจะต้องมีอย่างน้อย 7.2 ล้านพิกเซล (8 x 300 dpi x 10 x 300 dpi = 7,200,000)  คราวนี้คุณก็คงพอจะคำนวณเองได้แล้วนะครับว่า ไฟล์ภาพของคุณทีมีอยู่จะสามารถพิมพ์ออกมาได้ขนาดไหนได้บ้างในระดับคุณภาพที่รับได้ ถ้าขี้เกียจคำนวณว่า ไฟล์ภาพทีมีอยู่จะสามารถพิมพ์ออกมาได้ไซส์ขนาดเท่าไร? ลองคลิกเข้าปใช้ตัวช่วยที่เว็บไซต์ photokaboom ดูนะครับ