วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

เป็นหวัด คัดจมูก หายใจไม่ออก เมื่อห้ามใช้ยา ซูโดอีเฟดรีน ใช้ยานี้ไม่ได้ แล้วจะใช้ยาตัวใหนแทนว่ะ?



ในช่วงเวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ซูโดอีเฟดรีน” ตัวยาหนึ่งในสูตรตำรับยาแก้หวัดคัดจมูกที่นิยมใช้กันมายาวนาน และหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา บางท่านอาจนึกไม่ออกว่าซูโดอีเฟดรีนคือยาอะไร แต่ถ้ายกตัวอย่างยายี่ห้อดัง เช่น แอคติเฟด ซูลิดีน นาโซลิน หรือยาแก้หวัดแบบบรรจุเสร็จ เช่นทิฟฟี่ ฟู หรือดีคอลเจน พลัส เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะรู้จัก หรือเคยรับประทานยาเหล่านี้มาแล้ว
เหตุใดยาบ้านๆ อย่างซูโดอีเฟดรีนถึงถูกเปลี่ยนบทบาทจาก “ยารักษาโรค” กลายเป็น “สารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า” แล้วประชาชนอย่างเราจะเลือกใช้ยาชนิดใดทดแทน ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความรู้ว่า ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) คือสารที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกับสารอะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายผลิตออกมาเวลาที่เราตื่นเต้น ตกใจ หรือโกรธจัด อะดรีนาลีนออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้เร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หายใจเร็ว ม่านตาขยายกว้าง กล้ามเนื้อทุกส่วนตื่นตัวและมีประสาทสัมผัสที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์คับขัน เช่น เวลาไฟไหม้ สารอะดรีนาลีนนี่เองที่ทำให้คนมีพลังยกของหนักๆ ได้โดยไม่รู้สึกถึงความหนัก หรือไม่เคยยกของหนักขนาดนี้ได้มาก่อน
แม้สูตรโครงสร้างของซูโดอีเฟดรีนจะใกล้เคียงกับอะดรีนาลีน แต่ข้อดีของซูโดอีเฟดรีนคือ การออกฤทธิ์ต่อการหดตัวของหลอดเลือดเฉพาะที่เยื่อบุจมูกมากกว่าหลอดเลือดที่ส่วนอื่น ทำให้ยามีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดส่วนอื่นของร่างกายน้อยกว่า เราจึงนำสารซูโดอีเฟดรีนมาใช้เพื่อรักษาอาการคัดจมูก เพราะตัวยาซูโดอีเฟดรีนออกฤทธิ์จำเพาะต่อการหดตัวของหลอดเลือดที่เยื่อบุจมูกช่วยให้สารต่างๆ รั่วไหลออกจากหลอดเลือดสู่เยื่อบุจมูกน้อยลง ลดอาการบวมภายในเยื่อบุจมูก จึงบรรเทาอาการคัดจมูกได้ และยังช่วยให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น ทำให้หายใจโล่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการบวมของเยื่อบุช่องหูในกรณีหูอื้ออีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้ยาซูโดฯ นี้เป็นสิ่งต้องห้ามแล้ว เราก็มีทางเลือกอื่น...เมื่อมีอาการคัดจมูก ได้แก่ ยาแก้คัดจมูกชนิดรับประทาน: ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine)หรือจะเป็นยาแก้คัดจมูกชนิดใช้เฉพาะที่ ยาหดหลอดเลือดที่เยื่อบุจมูกชนิดใช้เฉพาะที่ (Topical Nasal Decongestant) มีฤทธิ์ลดบวมที่เยื่อบุจมูก ออกฤทธิ์เร็ว และมีผลต่อหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่ายาแก้คัดจมูกชนิดรับประทาน แต่ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 7 วัน เนื่องจากจะทำให้กลับมาคัดจมูกซ้ำและใช้ยาไม่ได้ผล (Rebound congestion) ตัวอย่างยามีทั้งแบบพ่นและหยอดจมูก ได้แก่ Xylometazoline HCl (Otrivin?), Oxymetazoline (Pernazene OXY, Iliadin) เป็นต้น
ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก (Nasal Corticosteroid) ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) หรือที่รู้จักกันในชื่อยาแก้แพ้อากาศ แม้จะมีฤทธิ์แก้คัดจมูกไม่มากนัก แต่นำมาใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการอื่นของโรคจมูกอักเสบได้เช่นกัน ยาแก้แพ้อากาศรุ่นแรก เช่น Chlorpheniramine maleate, Brompheniramine maleate ออกฤทธิ์ลดน้ำมูกและบรรเทาอาการคันจมูก แต่มีข้อจำกัดคือทำให้ง่วงนอน ต่อมาจึงมีการพัฒนายาแก้แพ้อากาศกลุ่มใหม่ๆ เช่น Cetirizine (Zyrtec), Levocetirizine (Xyzal), Loratadine (Clarityne), Desloratadine (Aerius), fexofenadine (Telfast) ฯลฯ โดยออกฤทธิ์ต่อฮีสตามีนเฉพาะมากขึ้น (H1 receptor) ทำให้อาการข้างเคียงง่วงนอนน้อยมากหรือไม่มีเลย นอกจากนี้ยังมีข้อดีที่ออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ยังไม่ค่อยได้ผลในการลดอาการคัดจมูก
น้ำมันหอมระเหยสำหรับสูดดม (Volatile oil) แม้จะไม่มีผลยืนยันชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพเทียบกับยาแผนปัจจุบัน แต่น้ำมันหอมระเหยจำพวกน้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันระกำ น้ำมันเปปเปอร์มินต์ สเปียร์มินต์ เมนทอล การบูร พิมเสน หรือแม้แต่น้ำมันหอมระเหยสูตรพื้นบ้านของคนไทยที่ทำเองได้ง่าย เช่น การตั้งหม้อน้ำบนเตาไฟใส่หอมแดง 4-6 หัว ทุบหยาบๆ แล้วใช้ผ้าขนหนูคลุม จากนั้นจึงนำมาอังหน้าเพื่อสูดน้ำมันหอมระเหยจากหอมแดง หรือสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มก็ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้เช่นกัน
สรุปว่า แม้วันนี้จะมีการจำกัดการใช้ยาซูโดอีเฟดรีน แต่ก็ยังมียาอื่นให้เลือกใช้อีกมากมาย ทั้งชนิดยารับประทาน ยาพ่นจมูก ยาหยอดจมูก และน้ำมันหอมระเหยสำหรับสูดดม แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงจะได้ไม่ต้องใช้ยาโดยไม่จำเป็น.

แต่ผมชอบ Sulidin ซูลิดิน มากว่าทำไงเออ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น